IGPA Thailand

International Golf Psychology Association

หลักสูตรจิตวิทยากอล์ฟที่ผ่านการรับรองจาก PGA and LPGA ของสหรัฐอเมริกา

“ความข้องใจอันดับหนึ่งของนักกอล์ฟคือ การไม่สามารถนำสวิงที่ฝึกในสนามไดร์ฟไปใช้ในสนามจริง”

 

นิตยสารกอล์ฟไดเจสต์

         Awareness          Confidence          Anxiety         Concentration        Motivation

ความรู้จากคอร์สนี้จะช่วยให้คุณเล่นกอล์ฟได้ดีที่สุดภายใต้แรงกดดัน

เมื่อคุณเรียนคอร์สนี้สำเร็จคุณจะสามารถนำสวิงจากสนามไดร์ฟไปใช้ที่สนามจริง


 

กลยุทธ์ทางจิตวิทยา 5 อย่างที่เป็นกุญแจสำคัญ…

การตระหนักรู้ : การรู้ถึงอารมณ์ของคุณเป็นกุญแจสำคัญต่อการเล่นที่มีประสิทธิภาพภายใต้แรงกดดัน

ความมั่นใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามมักจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คุณยังคงต้องรักษาความมั่นใจไว้ให้ได้

ความวิตกกังวล : คุณสามารถใช้ประโยชน์จากความกังวลและความกลัวโดยเปลี่ยนให้เป็นพลังงานในเชิงบวกได้

สมาธิ : โฟกัสไปที่สนามและทุกสถานการณ์ เรียนรู้วิธีที่จะพัฒนากลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะสงบสติอารมณ์จากความคิดที่เข้ามากวนจิตใจ

แรงจูงใจ : เราจำเป็นต้องมีแรงจูงใจที่จะผลักดันในการฝึกซ้อมและแข่งขัน

คอร์สนี้ประกอบไปด้วย วีดีโอ บทความ และ วิธีฝึก รวมถึงแบบทดสอบตอนท้าย โดยเรียนรู้จากเรื่องราวของนักกอล์ฟจาก PGA และ LPGA ทัวร์ทั้งจากอดีตและปัจจุบัน ตั้งแต่ แจ็ค นิคเคลาส์ ไปจนถึง ไทเกอร์ วู้ดส์

ตัวอย่างวีดีโอ

การตระหนักรู้

ความมั่นใจ

ความวิตกกังวล

สมาธิ

แรงจูงใจ

ตัวอย่างบทความ

เชื่อแล้วจะเห็น

“มนุษย์จะเป็นไปตามสิ่งที่เขาเชื่อ”

แอนทอน เชคคอฟ (Anton Chekov)

พลังความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงสุขภาพร่างกายของคนเราได้ มีการบันทึกหลายต่อหลายครั้งในงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการที่ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น เมื่อได้รับสารเฉื่อย เช่น sugar pill (ยาที่ส่วนใหญ่มักทำจากแป้งและน้ำตาล) หากพวกเขาเชื่อว่ายาเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพของตน เรื่องนี้เป็นที่รู้จักในวงการแพทย์ในนามของ “ปรากฏการณ์ยาหลอก (placebo effect)” ว่ามีอานุภาพมากกว่าการเป็นแค่เม็ดยา เนื่องจากมีการค้นพบว่า การรักษาด้วยยาหลอกในลักษณะนี้ สามารถช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้หลากหลายประเภทตั้งแต่ศีรษะล้านไปจนถึงเส้นเลือดขอด  การผ่าตัดหลอกก็สามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน  การทิ้งรอยแผลผ่าตัดเล็ก ๆ ที่ไม่มีผลอันตรายใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น หากพวกเขาเชื่อว่า ตนเองได้รับการผ่าตัดจริง ๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า จิตใจของมนุษย์นั้นมีพลังอันน่าเหลือเชื่อในการรักษาและเปลี่ยนแปลงสุขภาพร่างกายของเราได้

นอกจากนี้เรายังได้เห็นอีกว่า พลังความเชื่อสามารถเปลี่ยนสุขภาพร่างกายของเราและทำให้เรากลายเป็นนักกีฬาที่แข็งเเกร่งขึ้นได้อย่างไร  ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดสำหรับกรณีนี้ก็คือ เรื่องราวของโรเจอร์ แบนนิสเตอร์ (Roger Bannister) และไมล์ปาฏิหาริย์  เขาเป็นคนแรกที่สามารถทำลายสถิติวิ่งหนึ่งไมล์ในเวลาสี่นาที  อย่างไรก็ตาม ภายในช่วง 18 เดือนหลังจากที่เขาทำลายสถิตินั้น ก็มีนักวิ่งอีก 45 คน ที่สามารถทำลายสถิติอันไร้เทียมทานนั้นได้เช่นกัน

นักวิ่งเหล่านี้เพิ่มความเร็วของตนเองได้อย่างไร  ก่อนหน้าความสำเร็จของการทำลายสถิติอันยอดเยี่ยมของโรเจอร์นั้น  ทุกคนเชื่อว่าการวิ่งหนึ่งไมล์ในสี่นาที เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  ความเชื่อนี้เป็นเหมือนเพดานที่ครอบงำศักยภาพในการวิ่ง และป้องกันไม่ให้ร่างกายของพวกเขาทำลายเกราะบังตานี้ได้  อย่างไรก็ตาม หลังจากผลงานของโรเจอร์ออกมาเป็นที่ประจักษ์ตา  เพดานดังกล่าวได้ถูกทำลายลง และนักวิ่งเหล่านี้ก็มีความเชื่อว่า “ฉันทำได้”  ดั่งเฮนรี่    ฟอร์ด (Henry Ford) กล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณทำได้ หรือทำไม่ได้ คุณก็คงคิดถูกแล้ว”  ความเชื่อว่าตนเองสามารถวิ่งได้เร็วเท่าโรเจอร์ แบนนิสเตอร์ ทำให้พวกเขาวิ่งได้เร็วขึ้น

พลังความเชื่อสามารถสร้างประสิทธิภาพในการเล่นอย่างยอดเยี่ยมในสนามกอล์ฟได้เช่นกัน  ดั่งที่ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) เคยเขียนไว้ว่า “อุปกรณ์ในจิตใจมีความสำคัญเท่ากับอุปกรณ์ในมือของเราเอง” ไม้กอล์ฟจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากคุณเชื่อมั่นในความสามารถของคุณในการใช้งานมัน  ในขณะที่คุณจะพัตต์ลูก ความเชื่อที่ว่าคุณทำได้จะเพิ่มโอกาสอย่างมากในการที่ลูกจะลงหลุม  ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าคุณสามารถพัตต์ลูกให้ลงหลุมได้ คุณก็จะสโตรคพัตเตอร์ภายใต้การควบคุมและด้วยความมั่นใจ  อย่างที่เราทราบกันดีว่าลูกกอล์ฟจำเป็นต้องกลิ้งไปให้ถึงหลุม  จึงจะสามารถหล่นลงไปในหลุมได้  หากคุณต้องตีลูกข้ามน้ำที่ยาก  สิ่งแรกที่คุณต้องทำก่อนก็คือ คุณต้องเชื่อว่าคุณสามารถทำได้ ก่อนที่จะตีลูกข้ามไปอย่างสำเร็จ การคาดหวังผลในแง่บวกจะทำให้การสวิงของคุณผ่อนคลายและลื่นไหลไปได้ง่าย ซึ่งจะเพิ่มพลังให้คุณในการก้าวข้ามสิ่งกีดขวางในสนามไปได้

เราสามารถใช้หลักการนี้สำหรับการทำลายเพดานคะแนนให้ได้ต่ำกว่า 80, 90 หรือ 100 ในครั้งแรก  สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกอล์ฟส่วนใหญ่ในเวลาที่ต้องออกรอบที่สำคัญ ๆ ก็คือพวกเขามักออกจากคอมฟอทโซน (comfort zone) ของตนเอง ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกประหม่าในจิตใจ  ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ พวกเขาจะมีสักสองสามหลุมที่ตีได้แย่ ซึ่งทำให้หมดโอกาสในการได้คะแนนรวมที่ต่ำ  พวกเขาขาดความเชื่อที่ว่า ตนเองมีความสามารถมากพอในการทำคะแนนให้ต่ำเพื่อที่จะทำลายเพดานคะแนนนั้นได้

ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนนั้นมีความสำคัญในการจัดลำดับชั้นของโปรกอล์ฟเช่นกัน  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากการแข่งขัน มาสเตอร์ (Masters) ในปี 1987 ในรอบเพล์ยออฟระหว่าง แลร์รี่ ไมส์ (Larry Misze) และเกร็ก นอร์แมน (Greg Norman) ไมส์เอาชนะนอร์แมนด้วยชิปปาฏิหาริย์ในหลุมที่ 11 ไปได้  ไมส์ได้พูดว่า หลายคนคิดว่าเขาไม่คู่ควรสำหรับการชนะเมเจอร์ และเขาก็เชื่อคำพูดของคนเหล่านั้นมานาน  หลังจากที่ไมส์ชนะการแข่งขันมาสเตอร์ เขาก็ยังได้รับชัยชนะในทัวร์นาเม้นท์อื่น ๆ ถึงแม้ว่าเขายังไม่ได้แข่งชนะในเมเจอร์อื่นก็ตาม

สำนวนโบราณบอกว่า “เห็นแล้วถึงจะเชื่อ” ควรจะสลับกลับเป็น “เมื่อเชื่อแล้วจะเห็น” คุณต้องเชื่อก่อน หากคุณต้องการให้มันเกิดขึ้น

ใส่เสื้อสีแดง

เราทุกคนคงเคยเห็นไทเกอร์ (Tiger Woods) สวมเสื้อสีแดงในการเล่นในวันอาทิตย์ แต่เพราะเหตุใดเขาจึงยึดถือพฤติกรรมแบบนั้น  มันเป็นเพียงพิธีทางความเชื่อ หรือว่ามันมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นกันแน่  คำตอบนั้นก็คือที่จริงแล้ว การใส่เสื้อสีแดงมีผลต่อการเล่นเกมของไทเกอร์เป็นอย่างมาก ไทเกอร์รู้สึกมุ่งมั่นอุกอาจมากขึ้น เมื่อสวมเสื้อสีแดง  เขารู้ว่าตนเองจะต้องเล่นอย่างดุดันในวันอาทิตย์เพื่อที่จะทำคะแนนให้ตำ่และให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

 คำถามที่สำคัญคือ “การใส่เสื้อสีแดงทำให้ไทเกอร์รู้สึกดุดันมากขึ้นในสนามกอล์ฟได้อย่างไร” และที่สำคัญไปกว่านั้น “เสื้อสีแดงของไทเกอร์จะสามารถช่วยเกมกอล์ฟของคุณได้อย่างไร”

 เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราต้องพิจารณาความหมายของสีแดงก่อน โดยทั่วไปแล้วสีแดงมีความหมายในนัยยะของความรุนแรงอุกอาจและความอหังการ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดก็คือ นักต่อสู้วัวกระทิง         (มาธาดอร์) ใช่ผ้าคลุมสีแดงเพื่อที่จะกระตุ้นให้วัวกระทิงมีความก้าวร้าวรุนแรงและเข้ามาจู่โจมที่เขา นอกจากนี้สีแดงยังหมายถึงไฟ และเมื่อคุณมีใจที่ร้อนรนอย่างไฟ คุณก็จะแสดงออกด้วยความอหังการมากขึ้น

 เหตุผลที่สองที่ว่าทำไมการใส่เสื้อสีแดงของไทเกอร์ทำให้เข้าเกิดความมุ่งมั่นอุกอาจนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องรากฐานทางทฤษฎีของการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง พูดง่าย ๆ ก็คืออารมณ์ความรู้สึกที่เรามีนั้นมันเป็นผลมาจากการแสดงออกของเรา สมองของเรารับรู้ความรู้สึกมาจากร่างกาย ตัวอย่างเช่น ถ้าเรายิ้ม เราก็จะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นถึงแม้ว่าเราจะแกล้งยิ้มก็ตาม เราได้รับความรู้สึกที่มีความสุขจากการที่เราได้ยิ้ม ในกรณีของไทเกอร์ที่เขาใส่เสื้อสีแดงในวันอาทิตย์ก็เช่นกัน วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อที่จะทำให้เขามีความมุ่งมั่นอุกอาจและร้อนรนในการที่จะทำคะแนนให้ต่ำในวันอาทิตย์

 หลักการเสื้อสีแดงของไทเกอร์สามารถมีผลต่อเกมกอล์ฟและทัศคติกอล์ฟของคุณได้อย่างมาก เรามาลองใช้หลักการนี้กับการสร้างความมั่นใจในเกมกอล์ฟของคุณกัน  วิธีสร้างความมั่นใจนั้นมีหลายแบบมาก แต่วิธีหลักประการหนึ่งคือ การทำตัวให้มีความมั่นใจ   วิธีที่เราแสดงออกมาในสนามกอล์ฟหลังการตีช็อต หรือพัตต์ที่พลาด สามารถส่งผลอย่างมากต่อความมั่นใจที่เรามีสำหรับหลุมถัดไป  ยกตัวอย่างเช่น การเดินออกจากกรีนด้วยอาการไหล่ตกและคอตกหลังจากพลาดในการพัตต์ง่าย ๆไป จะทำให้นักกอล์ฟรู้สึกมั่นใจน้อยลงสำหรับหลุมต่อจากนั้น  นักกอล์ฟผู้นี้สรุปความจากภาษากาย (ไหล่ตก) ว่าต้องมีอะไรผิดปกติเป็นแน่  ในทางกลับกัน หากนักกอล์ฟเพิ่งได้หลุมแย่มาก แต่ยังคงสามารถเชิดหน้าและยืดอกไว้ได้ การสูญเสียความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นได้น้อยลง

หากคุณต้องการรู้สึกดุดันมากขึ้นในสนามกอล์ฟ ให้ใส่เสื้อสีแดงอย่างไทเกอร์ หรือแพทริค รี้ด (Patrick Reed) ผู้นำหลักการนี้ไปปฏิบัติด้วย  หากคุณต้องการรู้สึกมั่นใจมากขึ้น คุณต้องเดินด้วยความภาคภูมิใจในการเล่นของตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหลุมนั้น  หากคุณอยากสนุกมากขึ้น ก็จงยิ้มต่อไป

จงไปกับคนที่คุณพามางานเต้นรำด้วย

“ทันทีที่คุณได้ฝึกและได้เรียนรู้ทักษะแล้ว คุณต้องกล้าที่จะเดินออกไปแสดงให้เห็นและเชื่อมั่นในทักษะของตัวเอง”

อารอน แบดเดลีย์ (Aaron Baddeley)

 แม็ค โอเกรดี้ (Mac O’Grady) เป็นหนึ่งในนักกอล์ฟอัจฉริยะที่หาได้ยาก  เขาเป็นกูรูสอนนักกอล์ฟมืออาชีพในทัวร์หลายคนและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสวิง  นอกจากนี้ แม็คยังเป็นผู้เล่นที่มีความสามารถอันน่าทึ่งอีกด้วย  เขาเป็นผู้ชนะหลายสมัยในทัวร์และสามารถเล่น scratch golf ได้ด้วยความสามารถของเขาทำให้เขาสามารถลอกเลียนแบบนักสวิงระดับสุดยอดหลายคนในสมัยเขาได้ เช่น ลี เทรวีโน่ (Lee Trevino) จอห์นนี่ มิลเลอร์ (Johnny Miller) และแจ็ค นิคเคลาส์  (Jack Niklaus)  แม็คจะใช้สวิงที่ถอดแบบมานี้โดยขึ้นอยู่กับช็อตหรืออารมณ์ของเขาเอง  แต่น่าเสียดายที่ปรากฏว่าจิตใจของแม็คดูเหมือนจะขัดขวางความสามารถของเขาเอง  เขามีสวิงหลากหลายรูปแบบและมีความคิดเกี่ยวกับสวิงมากมายเสียจนตัวเองสับสน ส่งผลทำให้ขาดความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณตัวเองและไม่ได้ทำตามรูปแบบสวิงที่เขาฝึกมา  ผลที่ตามมาคือ แม็คไม่เคยได้รู้ถึงศักย์ภาพที่แท้จริงของตนเองในฐานะผู้เล่น

 นักกอล์ฟส่วนใหญ่เป็นเหมือนแม็ค  หากเล่นได้ดี พวกเขามักทำตามรูปแบบสวิงหลัก ๆ สองสามอย่างที่เขาได้ฝึกฝนมาจากสนามไดรฟ์  อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เริ่มไม่สู้ดี นักกอล์ฟจะพยายามค้นหาคำตอบทันที  พวกเขาเลิกเชื่อสวิงของตนเอง แล้วเริ่มเปลี่ยนไปใช้รูปแบบสวิงอย่างอื่นที่อาจได้ผลหรือไม่ก็ตาม

คุณรู้หรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณเปลี่ยนคู่เต้นในงานเต้นรำ  คุณจะโดนตบหน้าเข้าให้น่ะสิครับ  สิ่งเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับคุณเช่นกัน ถ้าคุณเอาแต่เปลี่ยนวงสวิงในระหว่างรอบ  ทันทีที่คุณเริ่มเปลี่ยนวงสวิง คุณจะสูญเสียความมั่นใจในความสามารถของตนเอง แถมคุณจะสับสนกับสิ่งที่ควรทำด้วย  เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คุณจะรู้สึกได้เลยว่า สนามกอล์ฟได้ตบหน้าคุณเข้าอย่างเต็มแรง

ทุกสิ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความไว้วางใจ   คุณต้องเชื่อมั่นในคนที่คุณพามาเต้นรำด้วยเสมอ

โฟกัสที่ตนเอง

ไม่มีใครสามารถทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อยกว่าได้ หากปราศจากการยินยอมของคุณ”

เอเลนอร์ รูสเวลท์ (Eleanor Roosevelt)

โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะกังวลกับสิ่งที่ผู้อื่นคิดเกี่ยวกับเรา  อันที่จริง ความกลัวที่มาเป็นอันดับแรกในวัฒนธรรมของเราคือ การพูดในที่สาธารณะ  หลายคนรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เมื่อต้องพูดต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน  อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูง อาการปวดหัวเริ่มมาเยือน และบางครั้งถึงกับลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เตรียมตัวมา  ความประหม่าเช่นนี้เป็นผลอันเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่เรานำเสนอต่อคนอื่น  ความกลัวอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเราคือการดูเป็นผู้โง่เขลาต่อหน้าผู้อื่น

ความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้อื่นคิดติดตามเรามาถึงในสนามกอล์ฟด้วย และสามารถทำลายเกมของเราได้  เรื่องราวของเอียน    เบเกอร์-ฟินช์ (Ian Baker-Finch) อธิบายประเด็นนี้ได้อย่างเหมาะสม  เบเกอร์-ฟินช์ชนะ British Open ในปี 1991 แต่ภายในเจ็ดปีหลังจากชัยชนะนั้นเขาก็ลาขาดจากวงการกอล์ฟมืออาชีพไป  มีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดังกล่าว  ปัจจัยอย่างหนึ่งคือ รอบโอเพ่นอันน่าอับอายด้วยคะแนน 92 ของเขาที่ British Open ณ Troon และปัจจัยอีกอย่างคือ การไม่ผ่านรอบตัดตัว 32 ครั้งติดกัน  อย่างไรก็ตาม เบเกอร์-ฟินช์กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ทำให้เขาออกจากทัวร์คือ แรงกดดันว่าทุกคนจะคิดอย่างไรกับการเล่นที่ไม่เอาไหนของเขา  เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “สิ่งที่ผมอยากทำได้ คือการเปลี่ยนชื่อตัวเอง กลับมาในร่างที่ต่างจากเดิม และไปเล่นโดยปราศจากแรงกดดันของการเป็นเอียน เบเกอร์-ฟินช์”

 อีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายกันนี้คือ การเล่นของเฮล เออร์วิน (Hale Irwin) กับนักกอล์ฟหนุ่มชื่อว่า มาร์ค โอเมร่า (Mark O’Maera)  ในวันนั้น โอเมร่าเล่นได้แย่มากและรู้สึกอับอายที่เล่นได้แย่ต่อหน้าเพื่อนร่วมอาชีพทั้งหลาย  หลังจากรอบนั้น เขาไปหาเฮล เออร์วิน และขอโทษสำหรับการเล่นที่แย่ของเขา  เออร์วินตอบชัดเจนทันทีว่า เขาไม่สนใจหรอกว่า พาร์ทเนอร์เล่นเป็นยังไง เขาห่วงแต่การเล่นของตัวเขาเองเท่านั้น

 คราวหน้าที่คุณก้าวเข้าสนามกอล์ฟ จงเอาอย่างเฮล  จงโฟกัสที่ตนเอง  อย่าไปกังวลว่าผู้อื่นจะคิดอย่างไร เพราะผมรับรองได้เลยว่า เพื่อน ๆ คุณเขาไม่ได้ห่วงคุณ คะแนนของคุณ หรือสวิงของคุณหรอก  พวกเขากำลังทำสิ่งที่คุณควรทำ  นั่นคือ คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง และคิดว่าพวกเขาดูเท่แค่ไหนในเสื้อสเวตเตอร์กอล์ฟตัวใหม่

ปล่อยสมาธิให้ไหลไป

“การเพ่งสมาธิเป็นเวลาสี่ชั่วโมงจะทำให้คุณอ่อนล้าทางจิตใจ”

เซอร์จิโอ้ การ์เซีย (Sergio Garcia)

คุณควรคิดถึงสมาธิในฐานะที่เป็นเหมือนอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งสะสมพลังงานทางด้านจิตใจ  ในการเล่นให้ดีที่สุด คุณต้องปล่อยให้สมาธิไหลออกมาเวลาคุณตีลูก  อย่างไรก็ตามหากประตูกักน้ำเปิดกว้างเกินไปและคุณเพ่งสมาธิอย่างหนักตลอดทั้งรอบ แหล่งสะสมพลังงานก็อาจหมดไปเร็วเกินควรได้  เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรพลังทางด้านจิตใจนี้ไว้ ประตูกักน้ำจะต้องเปิดในเวลาที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้น

ระดับสมาธิขั้นสูงสุดใช้เวลาในการก่อตัวขึ้น  เหมือนกับน้ำที่ไหลเข้าไปในอ่างเก็บน้ำ สมาธิของคุณต้องค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับ ถึงจะสามารถเพิ่มตัวขึ้นอย่างรวดเร็วได้  ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักกอล์ฟควรพัฒนารูทีนที่ช่วยในการปลดปล่อยสมาธิ แต่สามารถปิดการทำงานได้ เพื่อที่แหล่งสะสมพลังงานทางด้านจิตใจจะไม่แห้งหายไป  รูทีนนี้ควรทำให้สมาธิสามารถก่อตัว และพุ่งออกในเวลาที่เหมาะสมที่สุด

รูทีนการฝึกสมาธิที่เข้าถึงพลังงานทางด้านจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั้นประกอบไปด้วยสี่ขั้นด้วยกัน  ในการเข้าสู่ขั้นใดขั้นหนึ่ง ให้จินตนาการปุ่มหมุนที่ใช้ในการควบคุมการปลดปล่อยกระแสน้ำจากอ่างเก็บน้ำ  เมื่อหมุนปุ่มขึ้น กระแสสมาธิจะสะสมตัวมากขึ้น ทำให้นักกอล์ฟโฟกัสกับสิ่งที่จะทำเพิ่มขึ้น  อย่างที่หนังสือชื่อ Mental Rule: Be Trigger Happy ได้อธิบายไว้  นักกอล์ฟต้องหาตัวกระตุ้นให้เจอ (ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือการกระทำ) ที่จะหมุนปุ่มให้ถึงระดับที่เหมาะสม  นอกจากนั้น นักกอล์ฟควรมีตัวกระตุ้นที่ต่างกันสำหรับทั้งสี่ขั้น

ขั้นแรกของสมาธิเรียกว่า “โซนความสนุก (fun zone)” ซึ่งเริ่มหลังจากที่คุณได้ตีลูกไปแล้ว  ในขั้นแรกนี้ นักกอล์ฟจะเพลิดเพลินกับต้นไม้ใบหญ้า นกน้อยทั้งหลาย หรือบทสนทนารื่นเริงกับผู้เล่นพาร์ทเนอร์  ตอนนี้ ปุ่มหมุนสมาธิของคุณจะถูกตั้งไว้ที่ระดับต่ำสุด นั่นคือ หมายเลขหนึ่ง

ขั้นต่อไปเรียกว่า “โซนความคิด (think zone)”  และเริ่มตอนที่ผู้เล่นมาถึงที่ลูก  ตอนนี้ผู้เล่นต้องหมุนปุ่มสมาธิขึ้นถึงประมาณระดับ 3 ในขั้นนี้ นักกอล์ฟจะคิดถึงกลยุทธ์ที่จะใช้ เช่น ช็อตนี้กี่หลา สภาพกระแสลม ช็อตนี้จะดรอว์ หรือเฟดไหม รวมถึงจุดที่ลูกควรหยุด

หลังจากที่ได้เลือกกลยุทธ์ที่จะใช้แล้ว นักกอล์ฟจะเข้าสู่ “โซนความรู้สึก (feel zone)”  ตอนนี้ระดับสมาธิถูกเร่งขึ้นไปที่หมายเลขเจ็ด ผู้เล่นโฟกัสกับช็อตที่จะต้องทำ  ถ้าช็อตนั้นจะเป็นเฟด นักกอล์ฟจะสัมผัสได้ถึงเฟดด้วยการฝึกสวิง  หรือถ้าช็อตนั้นจะเป็น ดรอว์ช้า ๆ นักกอล์ฟก็พยายามจะรับรู้ความรู้สึกนั้น

ทันทีที่นักกอล์ฟพร้อมจะตีช็อตนั้น เขาจะเข้าสู่ “โซนออกตัว (go zone)”  ประตูแห่งสมาธิจึงเปิดกว้างออก ตอนนี้สมาธิจะเริ่มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และปุ่มได้ถูกตั้งไว้ที่ระดับสูงสุด นั่นคือสิบ  หลังจากที่ได้เล่นช็อตและวิเคราะห์ต่อจากนั้นแล้ว สมาธิของคุณจะกลับสู่ระดับต่ำสุด  ผู้เล่นกลับเข้าสู่โซนความสนุกและควรเพลิดเพลินกับการเดินไปยังลูกต่อไป  จากนั้นรูทีนในการสร้างสมาธิจึงเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และเกิดขึ้นซ้ำอย่างนี้ไปตลอดรอบ

ไทเกอร์ วู้ดส์ เคยกล่าวว่าเขามีรูทีนในการสร้างสมาธิที่คล้ายกับรูปแบบข้างต้นและมันทำให้เขารู้สึกสดชื่นพร้อมรับมือกับทุก รอบในทุกทัวร์นาเมนท์

ผู้เป็นเลิศไม่เคยหยุด

“มันใช้แรงวิ่งทั้งหมดที่เจ้ามีเพื่อจะรักษาตำแหน่งให้อยู่ที่เดิม  หากเจ้าต้องการไปที่อื่น เจ้าต้องวิ่งให้เร็วขึ้นอย่างน้อยสองเท่า”

ราชินีโพแดง จาก อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice in Wonderland)

 โซเครติส (Socrates) ได้รับยกย่องว่าเป็นคนที่ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น  พอถูกถามว่าอะไรทำให้เขาโดดเด่น เขาตอบว่า “ความฉลาดของผมอยู่ในนี้; สิ่งที่ผมไม่เหมือนกับคนอื่นก็คือ ผมรู้ว่าตนเองมีความโง่เขลาแค่ไหน”

 เมื่อผู้มีความเป็นเลิศพอใจกับความสำเร็จและทักษะของตัวเองจากความอุตสาหะในวงการใดก็ตาม พวกเขาก็ไม่ใช่ผู้เป็นเลิศอีกต่อไป

 นักบาสเกตบอลยอดเยี่ยมตลอดกาลของทีม Boston Celtic อย่างแลรี่ เบิร์ด (Larry Bird) ปฏิบัติตามหลักปรัชญานี้ตลอดทั้งอาชีพของเขา  ถึงแม้ว่าแลรี่จะมีช็อตอันน่าทึ่งและสัญชาติญาณภายในคอร์ทอันดีเยี่ยม เขารู้ดีว่าตนเองสามารถพัฒนาได้ และจะต้องเก่งกว่านี้ให้ได้  แลรี่พูดว่า “ถ้าผมไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองตลอด ผมก็เป็นเพียงอดีต  ผมตั้งใจทำงานหนักเสมอ  ผมเต็มใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด”  เขารู้ดีว่ามีผู้เล่นมากความสามารถหน้าใหม่ที่พึ่งจบจากมหาวิทยาลัยออกมาอยู่เรื่อยๆ และคนเหล่านี้ก็ต้องการมาแทนที่เขา

 แจ็ค นิคเคลาส์ ผู้ได้รับการโหวตให้เป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 มีความเชื่อคล้ายกับแลรี่ เบิร์ด  เขาพยายามอย่างหนักในการพัฒนาตัวเองเสมอ  ตัวอย่างหนึ่งคือ แจ็คเพิ่งเรียนรู้วิธีการใหม่สำหรับเกมสั้นรอบกรีนของเขาก่อนการแข่ง Masters ในปี 1986  เขาเพิ่งได้วิธีใหม่นี้มากจากชีชี โรดริเกซ (Chi Chi Rodrigues)  อันที่จริง ชีชี กำลังสอนวิธีการเล่นเกมสั้นรอบกรีนให้กับแจ็คกี้ ซึ่งเป็นลูกชายของแจ็คอยู่  จากนั้นแจ็คกี้ก็เล่าให้พ่อฟัง ทำให้แจ็คนำวิธีนี้มาเล่นที่ Augusta และคว้าชัยชนะทัวร์นาเมนท์ไปได้  คุณอาจคิดว่าผู้ชายในช่วงอายุสี่สิบน่าจะพอใจกับทักษะการเล่นของเขาแล้ว แต่ผู้เป็นเลิศไม่เคยหยุดแค่นั้น  ทัศนคติในลักษณะนี้ทำให้แจ็คครองบัลลังก์ของวงการกอล์ฟมาได้เป็นเวลาหลายปี

ไทเกอร์ วู้ดส์ ผู้ที่น่าจะกำลังได้รับการโหวตให้เป็นผู้เล่นที่เยี่ยมที่สุดในศตวรรษนี้ ดูจะไม่เคยพอใจกับการเล่น หรือระดับทักษะของตนเองเลย  ถึงแม้เขาจะชนะเมเจอร์ครั้งแรก นั่นคือ Masters ในปี 1997 ด้วย 12 สโตรค เขาก็ไม่พอใจกับสวิงของตัวเองเลย  ไทเกอร์เชื่อว่า สวิงของตนนั้นยาวเกินไปและหน้าไม้ด้านบนปิดมากเกินไป  เขาไม่สามารถตีช็อตแบบ soft-flowing ที่ต้องใช้เพื่อชนะเมเจอร์รายการอื่นได้  ดังนั้นเขากับโค้ชสวิงของเขานามว่า บุทช์ ฮาร์มอน (Butch Harmon) จึงฝึกฝนและปรับปรุงสวิงใหม่  ทัศนคติที่ไม่เคยพอใจกับตัวเองทำให้ไทเกอร์เป็นผู้ชนะที่อายุน้อยที่สุดของเมเจอร์ทั้งหมด และใครจะรู้ว่าเขาจะชนะอีกกี่ครั้งก่อนที่จะบอกลาวงการไป

อันนิก้า ซอเรนสตั้ม (Annika Sorenstam) ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในรุ่นของเธอใน LPGA เธอก็ออกตามล่าภารกิจพัฒนาเกมตนเองเช่นกัน  อันนิก้าและโค้ชของเธอจะเขียนการประเมินผลหลังจากทัวร์นาเมนท์ทุกครั้ง เพื่อระบุสิ่งที่ดีเกี่ยวกับรอบนั้น และสิ่งที่น่าจะทำให้ดีมากขึ้น  จากนั้นเธอจึงไปฝึกในส่วนที่ต้องการการพัฒนา  แม้แต่หลังจากชัยชนะครั้งที่สองจาก U.S Open ด้วยแปดสโตรค เธอก็ยังห่วงผลการประเมินจากโค้ช เพื่อที่เธอจะได้เก่งขึ้นไปอีกสำหรับเมเจอร์หน้า

 หลักการไม่หยุดอยู่กับแค่ระดับทักษะปัจจุบันไม่ได้ใช้ได้ผลกับผู้เล่นยอดเยี่ยมระดับโลกเท่านั้น  เมื่อเราพึงพอใจกับความสามารถของเรา เราก็จะหยุดเติบโตและหยุดบรรลุเป้าหมาย  มีนิทานสุภาษิตเก่าแก่ของแอฟริกาเรื่องหนึ่งที่สอนถึงการที่คนเราต้องก้าวหน้าต่อไปในชีวิต ดังนี้

 ทุกเช้าในแอฟริกา ละมั่งตื่นขึ้นมาและรู้ว่าตนเองต้องวิ่งให้เร็วกว่าสิงโต

ทุกเช้าในแอฟริกา สิงโตตื่นขึ้นมาและรู้ว่าตนต้องวิ่งชนะละมั่งตัวที่ช้าที่สุดให้ได้ มิฉะนั้นมันจะต้องหิวโหย

ไม่สำคัญหรอกว่าคุณคือละมั่ง หรือสิงโต

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น คุณควรต้องเริ่มวิ่ง

หากคุณต้องการพัฒนาอยู่เสมอ หรือไขว่คว้าตำแหน่งสูงสุดในสาขาอาชีพให้ได้ คุณก็ควรหยิบรองเท้าผ้าใบมาสวมใส่และเริ่มออกวิ่ง

                                                                        

ติดต่อเรา

JT Aimpointcoach

Jirasak Tasnarong

(+091) 870-0777

email: tasnarong@gmail.com